ภูเก็ตนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของใครหลาย ๆ คน เพราะประกอบไปด้วยภูมิทัศน์ของท้องทะเลไทยที่งดงาม มีธรรมชาติอันสวยงามและอุดมสมบูรณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์โบราณที่น่าสนใจ ประกอบไปด้วยสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร และสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาอย่างวัดฉลอง หรือวัดไชยธาราราม
วัดฉลองถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวภูเก็ตมาช้านาน ตั้งอยู่ที่ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต แต่กลับไม่ปรากฎหลักฐานที่ชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่เริ่มมีหลักฐานการมีอยู่ของวัดฉลองในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไชยธารารามแทน เนื่องจากในขณะนั้นวัดมีหลวงพ่อแช่มหรือพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุณีเป็นเจ้าอาวาส
ซึ่งท่านมีชื่อเสียงในเรื่องของการรักษาโรคให้กับชาวบ้าน ถือเป็นพระที่มีศาสตร์วิชาในด้านการปรุงยาสมุนไพรต่าง ๆ สามารถรักษาโรค ทำการเข้าเฝือกผู้ป่วยที่มีอาการกระดูกหัก
และนอกจากนี้ในยุคของท่านได้เกิดกลุ่มกบฎอั้งยี่ขึ้นหมายจะยึดครองเกาะภูเก็ต หลวงพ่อแช่มจึงได้รวบรวมชาวบ้านเข้าต่อสู้ โดยมอบผ้าประเจียดสีขาวให้ชาวบ้านใช้โพกหัวเอาไว้เพื่อเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจ จนสามารถเข้าต่อสู้กับกบฎจนได้รับชัยชนะในที่สุด รัชกาลที่ 5 จึงประกาศสมณะศักดิ์ให้กับท่าน และพระราชทานนามให้วัดเพื่อเป็นสิริมงคล
กล่าวกันว่าในสมัยที่หลวงพ่อแช่มยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากผู้คนเป็นอย่างมาก ผู้ที่มาสักการะมักนิยมปิดทองตามแขนและขาของท่านเพื่อแสดงความศรัทธา ทั้งยังมีเรื่องราวปาฏิหารย์เกี่ยวกับตัวท่านที่ชาวภูเก็ตกล่าวถึงกันมาอีกมากมายอย่างปาฏิหารย์ไม้ปิดทองที่หลวงพ่อเคยใช้ให้เด็กสาวคนหนึ่งใช้ปิดทองแก้บนเพื่อให้หายปวดท้อง ซึ่งว่ากันว่าหากใช้ไม้นี้จี้ไปที่เด็กที่มีอาการไส้เลื่อน เป็นฝีหรือปาน อาการต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะหายไป และแม้ว่าหลวงพ่อแช่มจะมรณภาพเป็นนานกว่าร้อยปีแล้ว
แต่ชาวเมืองภูเก็ตก็ยังเลื่อมใสศัทธาในตัวท่านมาจนถึงปัจจุบัน ทางวัดมีการจัดทำกุฏิจำลองเลียนแบบเรือนทรงไทยที่หลวงพ่อเคยใช้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ และภายในยังมีรูปปั้นหนุ่นขี้ผึ้งเหมือนหลวงพ่อแช่มเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปสักการะอีกด้วย
นอกจากหลวงพ่อแช่มที่คนนิยมเดินทางไปสักการะบูชาแล้ว วัดฉลองยังมีเจ้าอาวาสที่ได้รับศรัทธาจากชาวเมืองภูเก็ตมาอย่างยาวนานอีก 2 รูป ซึ่งก็คือหลวงพ่อช่วง และหลวงพ่อเกลื้อน ซึ่งทั้ง 2 รูปก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดฉลองสืบทอดต่อจากหลวงพ่อแช่ม พร้อมวิชาต่อกระดูกและการรักษาผู้คนมาจากหลวงพ่อแช่มด้วย
ซึ่งพระทั้ง 2 รูปนอกจากจะมีจริยวัตรที่งดงาม สามารถปฏิบัติกิจของสงฆ์ได้เป็นอย่างดีแล้ว ท่านทั้ง 2 ยังมีคุณูปการกับวัดในการบุรณะปฏิสังฆรณ์อาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ของวัด จนกลายเป็นสถานที่งดงาม และได้รับความเลื่อมใสจากชาวภูเก็ตหรือแม้แต่ชาวพุทธที่ประเทศมาเลเซียอย่างไม่เสื่อมคลาย นักท่องเที่ยวสามารถเข้าสักการะรูปหล่อจำลองของหลวงพ่อทั้ง 3 รูปได้ที่พระวิหารของวัดได้
ภายในวัดฉลองยังมีพระมหาธาตุเจดีย์ พระจอมไทยบารมีประกาศที่ได้รับแรงศรัทธาจากผู้มาเยือนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเคยบรรจุอยู่ในเจดีย์ที่เมืองอนุราธปุระ ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของศรีลังกามาก่อน แต่มีประวัติกล่าาว่าเจ้าอาวาส วัดสัมโพธิหาร ประเทศศรีลังกา ได้มอบพระบรมสารีริกธาตุองค์นี้ให้กับทางวัดฉลอง ทางวัดจึงได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์ พระจอมไทยบารมีประกาศ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อปี พ.ศ.2541-2544
ภายในพระมหาธาตุเจดีย์บริเวณชั้นแรกจะมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประดิษฐาน และมีบริเวณที่จัดไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ทำการสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ด้วย ส่วนบริเวณด้านบนสุดจะเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าเอาไว้ ภายนอกขององค์เจดีย์ มีระเบียงให้นักท่องเที่ยวใช้ชื่นชมวิวทิวทัสน์สวย ๆ ของเมืองภูเก็ตได้
ด้วยประวัติอันยาวนาน และเรื่องเล่ามากมายถึงศรัทธาและความเลื่อมใสที่ชาวพุทธทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีให้กับวัดฉลองหรือวัดไชยธารามมาอย่างช้านาน ทำให้สถานที่แห่งนี้ถือเป็นสถานที่ที่ผู้มาเยือนจังหวัดไม่ควรพลาดเดินทางมาเยี่ยมเยือนสักครั้ง นอกจากความศักดิ์สิทธิ์ของพระเกจิอาจารย์ทั้ง 3 รูปแล้ว วัดแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่งดงามควรค่าแก่การมาเยี่ยมเยือนสักครั้งเป็นอย่างมาก